ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว เป็นบุตรของขุนแสงพานิชและนางแสงพานิช เป็นชาวอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2450 เป็นบุตรคนที่ 6 โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 11 คน สมรสกับคุณหญิงประวาส (รสานนท์) แสงสิงแก้ว มีบุตร 3 คน สำเร็จวิชาแพทย์จากคณะแพทยศาสตร์และ ศิริราชพยาบาล (เวชบัณฑิต) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่ออายุ 22 ปี ไปปฏิบัติราชการ เป็นแพทย์หลวงประจำท้องที่ จังหวัดสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.2473 อยู่ 4 ปี จึงกลับเข้ามา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
ขณะนั้นสังกัดกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และในปี พ.ศ.2484 ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองชีวสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ 1 ปี จึงกลับไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาและหัวหน้ากองโรงพยาบาลโรคจิต จนถึงปี พ.ศ.2501 ระหว่างปี พ.ศ.2502-2504 ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ ปี พ.ศ.2505 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ และระหว่างปี พ.ศ.2506-2510 ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจนเกษียณอายุราชการในปี 2509 ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ได้รับการยกย่องอย่างยิ่ง จากคณะกรรมการ ทรัสตี ให้ได้รับรางวัลแมกไซไซ ประเภทข้าราชการ...."ผู้เห็นการณ์ไกล วางแผนจัดสรร สร้างงานและจัดเจ้าหน้าที่ในวิชาการและการบริหารงานสุขภาพจิตในประเทศไทยได้อย่างดีเยี่ยม"
ประวัติการศึกษา
พ.ศ.2464 |
จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศ |
พ.ศ.2466 |
จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย |
พ.ศ.2472 |
สำเร็จการศึกษาเวชชบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
พ.ศ.2482 |
รับประกาศนียบัตรจิตเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา |
พ.ศ.2483 |
แพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ บอลติมอร์ สหรัฐอเมริกา |
พ.ศ.2495 |
รับวุฒิบัตรเฟลโลว์ จากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา |
ประวัติการรับราชการ
พ.ศ.2473 |
นายแพทย์ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา(โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี) |
พ.ศ.2484 |
หัวหน้ากองอาชีวะสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ |
พ.ศ.2485 |
นายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และ หัวหน้ากองโรงพยาบาลโรคจิต |
พ.ศ.2502 |
รองอธิบดีกรมการแพทย์ |
พ.ศ.2505 |
อธิบดีกรมการแพทย์ |
พ.ศ.2506 |
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข |
พ.ศ.2510 |
เกษียณอายุราชการ |
รางวัลเกียรติคุณ
พ.ศ.2497 |
ได้รับปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต(กิตติมศักดิ์) จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ |
พ.ศ.2502 |
ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) |
พ.ศ.2509 |
ได้รับรางวัลแมกไซไซประเภทข้าราชการจากรัฐบาลสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งมูลนิธิแมกไซไซได้กล่าวโดยสรุปว่า “เป็นผู้เห็นการณ์ไกล วางรูปงานสร้างสรรค์ และจัดเจ้าหน้าที่ในวิชาการและงานสุขภาพจิตแห่งประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง” |
พ.ศ.2524 |
ได้รับสดุดีจากสหพันธ์สุขภาพจิตโลกว่าเป็น “บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ของไทย” |
งานริเริ่มที่สำคัญ
- |
สร้างแปลงโรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรก คือโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเป็นโรงพยาบาลมาตรฐานโดยรื้อโรงเรือน เก่าและสร้างใหม่เป็นอาคารที่มั่นคงและถูกสุขลักษณะสร้างบรรยากาศการรักษาคนไข้ ด้วยหลักวิชาและความเมตตา
|
- |
เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาล จากโรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี เป็น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อหวังให้คนทั้ง หลายคลายความรังเกียจผู้ป่วยโรคจิต
|
- |
ริเริ่มการสร้างโรงเรียนผู้ช่วยพยาบาลจิตเวช หลักสูตร 1 ปี ซึ่งต่อมาขยายเป็นหนึ่งปีครึ่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของ แพทย์ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
|
- |
ริเริ่มจัดตั้งคลินิกสุขวิทยาจิตเพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาสุขภาพจิตและการแนะแนวการศึกษาในโรงเรียน คลินิกนี้เริ่มจัดตั้งที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาได้ขยายไปก่อตั้งศูนย์สุขวิทยาจิตที่ ถนนพระราม6
|
- |
ก่อตั้งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมวิชาการจิตเวชศาสตร์ในการรักษาผู้ป่วย และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
|
- |
ก่อตั้งภาควิชาจิตเวชศาสตร์ขึ้นในคณะแพทยศาสตร์ โดยใช้ความพยายามต่อสู้อุปสรรคในการเปลี่ยนหลักสูตร โรงเรียนแพทย์อยู่ถึง 15 ปีจึงได้มีหลักสูตรที่เปิดสอนวิชาจิตเวชศาสตร์และจิตวิทยาตลอด 4 ปี ที่คณะ แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และต่อมาที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
|
- |
ก่อตั้งโรงพยาบาลปัญญาอ่อน ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อ สถาบันราชานุกูล เพื่อรับดูแลรักษาและป้องกันเด็กปัญญาอ่อน
|
- |
ก่อตั้งบ้านกึ่งวิถีร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับดูแลคนไข้โรคจิตเรื้อรังที่ทุเลาก่อนกลับบ้านในขณะเดียวกัน ก็สร้างระบบจิตเวชชุมชนมากขึ้น โดยพยายามตรึงคนไข้ให้อยู่ในชุมชน โดยให้สถานีอนามัยในท้องถิ่นช่วยรับ ภาระดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน
|
- |
เป็นกรรมการผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวก โดยคำนึงถึงสุขภาพจิตของผู้พิการทั้งหลาย
|
- |
เป็นกรรมการก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งประเทศไทย
|
กล่าวโดยสรุป ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ไม่เพียงแต่เป็นผู้วางรากฐานงานสุขภาพจิต และจิตเวชเท่านั้น ท่านยังได้ชื่อว่าเป็น “ครู” อย่างแท้จริง อันควรแก่การสักการะอีกด้วย ท่านมิได้สอนแต่วิชา แต่ได้ปลุกฝังจรรยาบรรณ ความรอบรู้ในชีวิต สังคมและวัฒนธรรม เป็นครูผู้ทำตนเป็นเยี่ยงอย่าง โดยดำรงตนอยู่ในเมตตาธรรมและศีลธรรมอันดีงามตลอดชีวิต เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ บุคลิกภาพของท่านนั้นผู้ ได้มีโอกาสเข้าใกล้จะรู้สึกตรงกันว่า “ยามร้อนมาจะเย็น ยามหนาวมาจะอุ่น” เมื่อท่านเสียชีวิตในปีพ.ศ.2524 สหพันธ์สุขภาพจิตโลกได้จารึกคำสดุดีและคำไว้อาลัยแด่ “บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ของไทย” ไว้ในสารถึงสมาชิก ทั่วโลก ปูชนียบุคคลอันควรแก่การคารวะอาจมีได้หลากหลาย แต่ปูชนียบุคคลผู้เป็น “บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์และ สุขภาพจิต” ของไทยมีเพียงผู้เดียว ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว